แฉวงการกีฬาเกาหลีใต้ “โค้ช” ถูกเสมอ อุ้มชูให้ท้าย กลายเป็นกดขี่

อะไรคือ “การกระทำในอดีต” ของผู้ที่กำลังเฉิดฉายท่ามกลางสปอตไลต์ จนกระทั่งต้องละล่ำละลักออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการเช่นนั้น!

“ใช้อาวุธมีดข่มขู่ ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เพื่อรีดไถเงิน และบังคับให้เพื่อนร่วมทีมรุ่นน้องซักผ้าให้”

โดยทั้งหมดแห่งการกระทำย่ำยีผู้อื่นนั้น เกิดขึ้นในสมัยที่ “เธอทั้งคู่” กำลังเรียนอยู่ในระดับเพียงชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลายเสียด้วย

“เธอทั้งคู่” ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้คือใคร?

This image is not belong to us

“เธอทั้งคู่” คือ สองฝาแฝดดาวรุ่งแห่งวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ที่มีชื่อว่า “อี-แจยอง” (Lee Jae-yeong) และ “อี-ดายอง” (Lee Da-yeong) วัย 24 ปี นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติเกาหลีใต้ และนักตบลูกยางอาชีพสังกัดสโมสรอินชอน ฮึงกุก ไลฟ์ พิงค์ สไปเดอร์ (Incheon Heungkuk Life Pink Spiders) สโมสรวอลเลย์บอลหญิงชั้นนำในวีลีก (V-League) ของประเทศเกาหลีใต้

โดย “อี-แจยอง” เล่นในตำแหน่งตัวตบหัวเสา (Outside Spiker) ส่วน “อี-ดายอง” เล่นในตำแหน่งตัวเซต (Setter) ซึ่ง “สองสาวฝาแฝด” ถือเป็นกำลังสำคัญในการพาทีมวอลเลย์บอลเกาหลีใต้เกาหลีใต้ คว้าเหรียญทองในกีฬาเอเชียนเกมส์ อินชอนเกมส์ 2014 รวมถึงการพาทีมชาติเกาหลีใต้ผ่านเข้าไปเล่นในกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ได้สำเร็จอีกด้วย (ปัจจุบันยังคงเลื่อนจัดการแข่งขันออกไปจากปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19)

ด้วยฐานะนักกีฬาตัวหลักแห่งความหวังของชาติ เมื่อบวกเข้ากับใบหน้าแสนสวย ทำให้ก่อนหน้านี้…ทั้งคู่ถือเป็นดาวเด่นสุดป๊อปแห่งวงการกีฬาไปโดยปริยาย แต่แล้ว…เมื่อปรากฏว่า ในโลกออนไลน์มีการขุดคุ้ยเรื่องราวพฤติกรรมในอดีตของ “สองฝาแฝดแห่งความหวัง” ว่า เธอทั้งคู่เคยกระทำย่ำยีกับใครเอาไว้บ้าง โดยผู้ที่อ้างว่า “เคยตกเป็นเหยื่อของพวกเธอ” ด้านมืดที่เคยถูกกลบไว้ด้วยแสงไฟแห่งสปอตไลต์ และใบหน้าอันงดงามจึงถูกพบเห็นได้ในที่สุด

โดยผู้ที่อ้างว่าเป็นเหยื่อถึง 4 คน ได้ออกมาแฉว่า พวกเธอมีพฤติกรรมทั้งวางก้าม ใช้กำลังข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และรีดไถเหยื่อมากมายรวมกันถึง 21 ข้อกล่าวหา จากนั้นเหยื่ออีกหลายๆ คน ก็ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันแชร์พฤติกรรมสุดเลวร้ายของทั้งคู่ จนกระทั่งลุกลามราวกับไฟลามทุ่ง และแม้ปัจจุบัน โพสต์แฉจาก 4 เหยื่อ และคนอื่นๆ จะถูกลบทิ้งไปทั้งหมดแล้ว และยากที่จะระบุตัวตนของผู้ที่กล่าวหาได้

This image is not belong to us

แต่บรรดาผู้ที่เสพเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ กลับไม่อาจทนนิ่งเฉยกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ทำให้มีผู้คนร่วมลงชื่อถึง 120,000 คน เพื่อเรียกร้องให้ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ “บลูเฮาส์” (Blue House) ทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริง จนกระทั่งนำไปสู่บทสรุปหายนะสำหรับ “อนาคตในวงการวอลเลย์บอล” ของ “ทั้งคู่”

โดยสมาคมวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ (Korean volleyball Association) หรือ KFA ได้ออกแถลงการณ์ว่า “สองฝาแฝด” จะถูกถอดออกจากทีมชาติชุดที่จะไปเล่นกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว รวมถึงชุดที่จะลงเล่นในวอลเลย์บอลเนชัน ลีก 2021 (volleyball Nations League 2021) และการคัดเลือกเพื่อลงทำการแข่งขันในระดับนานาชาติทั้งหมด รวมถึงออกกฎใหม่ที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมอย่างมาตรการลงโทษ “แบนตลอดชีวิต” กับบรรดาผู้ที่เคยมีประวัติกลั่นแกล้งในโรงเรียนมาก่อน

ในขณะที่ สโมสรอินชอน ฮึงกุก ไลฟ์ พิงค์ สไปเดอร์ ต้นสังกัดของสองสาวก็ตัดสินใจไม่ต่างกัน นอกจากจะมีการแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการแล้ว ยังแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศถอดทั้งคู่ออกจากทีมโดยไม่มีกำหนดด้วย

เมื่อปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน และวงการกีฬากลายเป็นเรื่อง “อื้อฉาว” ในระดับชาติครั้งใหม่ ทำให้ปัญหาหมักหมมเรื้อรังที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขนี้ ถูกนำมา “เป็นประเด็นร้อน” จนนำไปสู่การถกเถียงในวงกว้างในสังคมเกาหลีชนขึ้นอีกครั้ง

อะไรคือ จุดตั้งต้นของปัญหาการล่วงละเมิด และการทำร้ายร่างกายนักกีฬา?

This image is not belong to us

ปัญหาใหญ่สำหรับเรื่องนี้ คือ โครงสร้างอำนาจในวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็น “โค้ช” หรือนักกีฬาผู้มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้ จะสามารถหลบเลี่ยงจาก ข้อกล่าวหาการใช้กำลัง หรือวาจาทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือแม้แต่กระทั่งการล่วงละเมิดทางเพศกับนักกีฬาเด็ก หรือเพื่อนร่วมทีมที่อายุน้อยกว่าได้

นั่นเป็นเพราะโรงเรียนต้นสังกัดจะพยายามปิดหูปิดตาในเหตุการณ์การกลั่นแกล้งเลวร้ายต่างๆ นานา ที่เกิดขึ้น ตราบใดที่ “โค้ช” หรือนักกีฬาดาวรุ่งผู้มีอิทธิพลเหล่านั้น ยังคงสามารถสร้างชื่อเสียงและผลิตเหรียญรางวัลต่างๆ มาแต่งเติมให้กับตู้โชว์ในโรงเรียนได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ปัญหาในเชิงโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลีใต้ ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างมองไปในมุมเดียวกันว่า หากจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันจะต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปที่โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโค้ช ตัวนักกีฬา โรงเรียน ครอบครัว และรัฐบาล มากกว่าที่จะทำเพียงการลูบหน้าปะจมูกแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี หรืออาศัยเพียงวาทศิลป์ของบรรดานักการเมืองที่มุ่งให้ความสนใจเพียงปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องอื้อฉาวเดียวที่เพิ่งเกิดขึ้นในวงการกีฬาของเกาหลีใต้ในห้วงระยะเวลานี้

การกลั่นแกล้ง และการล่วงละเมิด ปัญหาหมักหมมในวงการกีฬาเกาหลีใต้?

This image is not belong to us

โดยก่อนที่จะเกิดเรื่องอื้อฉาวจาก 2 ฝาแฝดนี้ ก็เคยเกิดกรณี “ซง-มยองกึน” (Song Myung-geun) และ “ชิม-คยองซอบ” (Sim Kyoung-sub) 2 นักกีฬาวอลเลย์บอลชายสังกัดสโมสร อันซัน โอเค ไฟแนนเชียล กรุ๊ป โอเคแมน (Ansan OK Financial Group OKman) ก็เพิ่งถูกข้อกล่าวหาใช้กำลังกลั่นแกล้งเพื่อนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย จนกระทั่งต้องออกมาแถลงขอโทษในพฤติกรรมสุดเลวร้ายของตัวเองอย่างเป็นทางการ และถูกแบนจากการแข่งขันขันวีลีก แบบไม่มีกำหนดมาแล้ว!

หรือหากนับย้อนไปในเดือนมกราคม ปี 2018 นักกีฬาสาวสปีดสเกตระยะสั้น (Shot Track Speed Skating) ระดับเหรียญทองโอลิมปิก อย่าง “ชิม ซอก-ฮี” (Shim Suk-hee) ก็ได้ออกมากล่าวหา “โค้ชโชแจ-บอม” (Jae-beom) ของตัวเองว่า มีพฤติกรรมใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และคุกคามทางเพศเธอมาเป็นเวลาหลายปี และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ (Choi Suk-hyeon) “ชเว ซอก-ฮยอน” อดีตนักกีฬาไตรกีฬา ได้ทลายความอึดอัดของตัวเองด้วยการออกมาแฉว่า เธอถูกคุกคามทางเพศ โดยโค้ช เทรนเนอร์ และเพื่อนร่วมทีมรุ่นพี่ ขณะร่วมสังกัดสโมสรกึ่งอาชีพ จนกระทั่งทั้งหมดจะถูกตัดสินจำคุกเป็นการลงทัณฑ์

เหตุการณ์อื้อฉาวทำลายชื่อเสียงวงการกีฬาแดนกิมจิเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งทางออกที่ว่า คือ การตั้งศูนย์จริยธรรมด้านกีฬา (Sports Ethics Center) ขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (ปี 2020) โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การดูแลความโปร่งใสในวงการกีฬา และการปกป้องนักกีฬา รวมถึงมีอำนาจในการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวในวงการกีฬาเพิ่มมากขึ้นด้วย

หากแต่…ความพยายามอันแสนทุลักทุเลที่ว่านี้ ได้กลายเป็นตลกร้ายในวงการกีฬาของเกาหลีใต้ซ้ำเติมเข้าไปอีก เมื่อ “อีซุก-จิน” (Lee Sook-jin) ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมด้านกีฬา ถูกผู้ใต้บังคับบัญชากล่าวหาว่า ใช้วาจาบีบบังคับให้ลูกน้องเข้ารับการบำบัดทางจิต โดยอ้างสาเหตุเพียงว่า “มีความเครียดมากเกินไป”

ในเมื่อ…ผู้ที่มีภาระหน้าที่ในการปกป้องนักกีฬาจากการถูกกดขี่ หรือกลั่นแกล้งโดยตรง กลับถูกตั้งข้อหาเดียวกันเสียเอง มันจึงทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องกับวงการกีฬามองไม่เห็นว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งโดยใช้กำลังหรือวาจา รวมไปจนกระทั่งถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ในวงการกีฬาระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งเรื้อรังมาเนิ่นนานหลายทศวรรษจะถูกแก้ไขได้เพียงการตั้งหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวขึ้นมาดูแล

วัฒนธรรม “โค้ช” เป็นผู้ถูกเสมอ คือ ชนวนเหตุของปัญหาในวงการกีฬาเยาวชน?

This image is not belong to us

ขนบในวงการกีฬาของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในวงการกีฬามัธยม คือ “โค้ช” เป็นผู้มีอำนาจเหนือนักกีฬาทุกคน และไม่เพียงเท่านั้น “โค้ช” ยังมีอิทธิพลอยู่เหนืออนาคตของนักกีฬาวัยเยาว์ สำหรับเส้นทางที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือการไปเป็นผู้เล่นในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้วย โดยทั้งหมดที่ว่าไปนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับความเมตตาจาก “โค้ช”

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในวงการกีฬาระดับมัธยมของเกาหลีใต้ การจะถูกพบเห็น “ความโดดเด่น” จากบรรดาแมวมองในระดับอาชีพหรือระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้นั้น มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “โค้ช” ยอมผลักดันโอกาสให้ลงเล่นมากพอในการแข่งขันแต่ละนัดเท่านั้น ฉะนั้น แม้จะรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของ “โค้ช” ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายด้วยวาจา หรือการลงมือลงไม้มากเพียงใด นักกีฬาก็ไม่มีสิทธิที่จะแสดงออกใดๆ เพราะหากเกิดไปทำให้ “โค้ช” รู้สึกไม่พอใจแม้แต่เพียงเล็กน้อย นั่นจะเท่ากับ อนาคตในวงการกีฬาสูญสิ้นไปตลอดกาล

โค้ช = นักกีฬาอัจฉริยะ สมการที่บิดเบี้ยวในวงการกีฬาเยาวชนเกาหลี?

ซึ่งขนบ “โค้ช” เป็นผู้ถูกเสมอนั้น มันถูกผูกโยงเข้ากับสมการที่ว่า อนาคตในหน้าที่การงานของ “โค้ช” แต่ละคน ย่อมต้องมี “นักกีฬาอัจฉริยะคู่ใจ” เป็นของคู่กัน เพราะการมีนักกีฬาที่โดดเด่นในทีม ย่อมสามารถรับประกันผลงานในสนาม และหน้าที่การงานของโค้ชได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เหล่านักกีฬาอัจฉริยะในวัยเยาว์จึงได้สิทธิพิเศษเหนือนักกีฬาคนอื่นๆ ในทีม หรือพูดง่ายๆ ว่า จะได้รับการเอาอกเอาใจมากเกินกว่าปกติเป็นพิเศษ ซึ่งการถูกหลอมรวมแบบผิดๆ เหล่านี้ ทำให้เหล่านักกีฬาวัยรุ่นเกาหลีส่วนหนึ่งบังเกิดอีโก้ที่คิดว่า ตัวเอง “อยู่เหนือผู้อื่น” และสามารถจะทำอะไรกับเพื่อนร่วมทีมที่ด้อยกว่าได้ทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งการกลั่นแกล้ง หรือทำร้ายร่างกายและจิตใจ จนกระทั่งต้องจำใจออกไปจากทีมโดยไม่มีความผิด เพราะ “โค้ช” จะแกล้งทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ด้วยเห็นว่า อัจฉริยะนักกีฬารุ่นเยาว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จของทีมมากกว่า

ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ คือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ “พี่น้องฝาแฝดสาวนักวอลเลย์” ที่มีการพูดถึงในบรรทัดแรกสุดนั่นเอง!

“มันก็แค่การกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมทีม แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ…การพาโรงเรียนคว้าแชมป์ในระดับชาติ แล้วอะไรมันจะสำคัญไปกว่านั้นได้ล่ะ?”

ต้องปฏิวัติวงการกีฬาเยาวชนก่อนที่จะมีเหยื่อรายต่อไป?

This image is not belong to us

“คิม พยอง-จุน” (Kim Byoung-joon) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยอินฮา (Inha University) ยอมรับว่า แม้จะเป็นเรื่องยากในการควบคุมอิทธิพลของเหล่า “โค้ช” ทีมกีฬาในระดับมัธยม แต่หากจะคิดแก้ไขในประเด็นดังกล่าว สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องเริ่ม คือ การปฏิรูประบบที่จะนำไปสู่การ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” ไม่ให้โค้ชมีอิทธิพลเหนือนักกีฬามากจนเกินไป

ขณะที่ “ชอง ยง-ชอล” (Chung Yong-chul) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการกีฬามหาวิทยาลัยซอกัง (Sogang University) มองว่า ปัญหาการล่วงละเมิด หรือการใช้ความรุนแรงในวงการกีฬาระดับมัธยมของเกาหลีใต้ มันดำเนินมาอย่างต่อเนื่องร่วม 50 ปีแล้ว หากอยากจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญที่ควรแก้ไข คือ ต้องล้มเลิกความคิดที่ว่า “ชัยชนะย่อมอยู่เหนือทุกสิ่ง” นอกจากนี้ หากยังคงมองเพียงว่า เหยื่อจากน้ำมือของ “ฝาแฝดสาวนักวอลเลย์บอล” เป็นเพียงปัญหาส่วนบุคคล ภาพใหญ่ของปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบที่บิดเบี้ยวก็ยังคงจะผลิต “เหยื่อ” ที่ถูกกระทำย่ำยีออกมาได้อีกเรื่อยๆ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ:

  • ควรใช้ “Clubhouse” เพื่อตอบโจทย์ด้านธุรกิจอย่างไร?
  • แก่ เก๋า เขาคือ “คิง คาซู” (King Kazu) นักบอลผู้อึดที่สุดในปฐพี
  • ทางรอดเมื่อแฟนบอลคืนสนาม ในยาม Covid-19 เปลี่ยนวิถีการเชียร์บอลอังกฤษ

  • 10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
  • ไขปริศนาการหายตัว “เอลิซา แลม” หลากทฤษฎีสมคบคิด สุดท้ายจบแสนเศร้า