โหมโรง : 10 ข้อที่คุณจะได้เห็น ทีมสาวไทย และ VNL 2021 – บทความวอลเลย์บอล – SMMSPORT

วอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก (VNL) ได้รับการยืนยันจาก สหพันธ์วอเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) จะกลับมาแข่งขันกันอย่างแน่นอนที่เมืองริมินี ประเทศอิตาลี

กำหนดการแข่งขันของ VNL ในประเภททีมหญิง ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 25 มิถุนายน 2564 ส่วนทีมชาย ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 27 มิถุนายน 2564

และนี่คือ 10 ข้อ ของทีมสาวไทย และ การแข่งขันเนชันส์ ลีก ที่คุณจะได้เห็นในปี 2021

1. VNL ครั้งแรกในรอบ 2 ปี

อย่างที่เราทราบกันดี ในปี 2020 นั้นโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้วอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก ที่กำหนดจะแข่งขันกันในช่วงเดือนพฤษภาคม ต้องถูกเลื่อนออกไปแข่งขันหลังโอลิมปิกเกมส์

แต่ทว่าสถานการณ์โควิด ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง โอลิมปิกเกมส์ ได้เลื่อนแข่งขันจากปี 2020 มาเล่นในปี 2021 แทน และ FIVB จะตัดสินใจยกเลิกการแข่งขัน VNL ในปี 2020 ออกไปด้วยเช่นกีน ก่อนจะกำหนดแข่งขันใหม่ในปี 2021 โดยจะแข่งขันกันที่เมืองริมินี ประเทศอิตาลี อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีอยู่แล้ว

ซึ่งทำให้ การแข่งขัน VNL ในปี 2021 จะเป็นการแข่งขัน VNL ครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากที่ครั้งล่าสุดที่มีการแข่งขันนั่นคือปี 2019

2. VNL ในรูปแบบ Bubble

และด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่าง FIVB ได้ประกาศว่าจะมีการแข่งขัน VNL อย่างแน่นอนในปี 2021 ทว่าจะเป็นการแข่งขันกันในรูปแบบ Bubble

ซึ่ง Bubble อธิบายง่าย ๆ คือ เป็นการกำหนดพื้นที่กักตัว หรือ Quarantine ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแข่งขัน สามารถอยู่ได้แต่เพียงในพื้นที่นี้เท่านั้น และส่วนใหญ่จะมีเพียงแค่ โรงแรม, สนามซ้อม และสนามแข่งขัน

อีกทั้งนี่จะเป็นครั้งแรกของการแข่งขัน VNL ที่จะได้ลงชิงชัยกันบนสังเวียน Bubble เมืองริมินี ประเทศอิตาลี ทั้งประเภททีมชาย และทีมหญิง โดยจะเริ่มในวันที่ 25 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 หรือจบรอบชิงชนะเลิศ ของประเภททีมชาย และยังไม่มีผู้ชมในสนามอีกด้วย

3. ปีนี้ไม่มีตกชั้น

ปกติแล้วการแข่งขัน VNL ทั้งทีมชาย และทีมหญิง จะมีการแข่งคัดเอาทีมชาเลนเจอร์ ที่มีผลงานแย่ที่สุด ตกชั้นหล่นไปทำการแข่งขันในวอลเลย์บอลชาเลนเจอร์ คัพ ในปีถัดไป

ซึ่งทีมชาเลนเจอร์ ของ VNL ในปี 2021 ประเภททีมหญิง ประกอบไปด้วย เบลเยียม,แคนาดา, โดมินิกัน และ โปแลนด์ ส่วนทีมชาย ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย, บัลแกเรีย, แคนาดา, สโลวีเนีย และ เนเธอร์แลนด์ แต่ทว่า FIVB ได้ประกาศยกเลิกการแข่งขันชาเลนเจอร์ คัพ 2021 ไปแล้ว เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19

ส่งผลให้การแข่งขัน VNL ปี 2021 จะไม่มีการตกชั้นของทีมชาเลนเจอร์แต่อย่างใด แม้ว่าจะจบอันดับที่เท่าไหร่ก็ตาม

4. รอบ FINALS ปรับมาเหลือเพียงแค่ 4 ทีม

นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา การแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ (ชื่อเดิมของ VNL) จะคัดเอาทีมอันดับ 1-5 ที่มีผลงานดีที่สุด หลังจากจบการแข่งขันในรอบแรก รวมกับเจ้าภาพในปีนั้น ๆ เป็น 6 ทีม ผ่านเข้าไปแข่งขันต่อในรอบ FINALS หรือรอบชิงชนะเลิศ

ซึ่งตามกติกา หากทีมเจ้าภาพ ที่ร่วมแข่งขันในรอบแรกด้วย มีผลงานที่ติดอันดับ 1-5 ทีมที่จบอันดับ 6 ก็จะได้สิทธิผ่านเข้าไปเล่นในรอบ FINALS ด้วยเช่นกัน

รวมไปถึงการแข่งขัน WGP ที่เมื่อเปลี่ยนชื่อมาเป็น VNL เมื่อปี 2018 ก็ยังคงใช้ระเบียบนี้ในการคัดเอาทีมอันดับ 1-5 ผ่านเข้ามาแข่งขันต่อในรอบ FINALS ที่ประเทศเจ้าภาพ

ทว่าในปี 2021 การแข่งขัน VNL ในรูปแบบ Bubble จะคัดเอาเพียงแค่ 4 ทีม ที่มีผลงานดีที่สุดเท่านั้น จะผ่านเข้าไปแข่งขันในรอบ FINALS ซึ่งปรับมาเป็นการเล่นในรอบรองชนะเลิศ แทน

5. แมตช์แรกของ FIVB ที่เก็บคะแนนโลกแบบใหม่

กุมภาพันธ์ 2020 FIVB ได้เปลี่ยนกติกาการเก็บคะแนนสะสมอันดับโลก หรือ FIVB เวิลด์แรงกิง (FIVB World Ranking) มาเป็นการนับคะแนนแบบนัดต่อนัด

เดิมทีรูปแบบการคิดคะแนนของ FIVB จะมีคะแนนให้กับรายการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การรับรองต่างกันออกไป อาทิ วอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก, วอลเลย์บอลเวิลด์ คัพ, วอลเลย์บอลโอลิมปิกเกมส์ ทีมชนะเลิศ จะได้ 100 คะแนน และอันดับต่อไป จะได้คะแนนนลดหลั่นกันลงมา

สำหรับการคิดคำนวณคะแนนแบบใหม่นั้น จะพิจารณาผลการแข่งขันของสองทีมที่เจอกัน รวมทั้งข้อมูลคะแนนสะสมโลกของเดิม หากเกิดผลการแข่งขัน ระหว่าง 3-0, 3-1, 3-2, 2-3, 1-3, 0-3 แต่ละทีมจะได้คะแนนไม่เหมือนกัน

ซึ่งเดิมทีการคิดคะแนนสะสมอันดับโลกแบบใหม่ จะเริ่มในปี 2020 แต่ด้วยการแข่งขันรายการต่าง ๆ นั้นไม่สามารถเล่นกันได้ VNL 2021 จึงจะเป็นครั้งแรกของ FIVB ที่จะได้นำการคิดคะแนนแบบใหม่มาใช้อย่างเป็นทางการ

อีกทั้งนับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อรายการจาก WGP มาเป็น VNL เมื่อปี 2018 ทาง FIVB ก็ไม่ได้มีการคิดคะแนนสะสมอันดับโลก จากรายการนี้แต่อย่างใด

6. การกลับมาอีกครั้งของ 6 เซียน ทีมชาติไทย

เนื่องด้วยผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ทีมของสาวไทย ในชุดที่เก็บตัวจะไปแข่งขัน VNL ในตอนแรก มีการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ต้องจัดหาผู้เล่นใหม่ไปร่วมแข่งขันแทน

ซึ่งบรรดานักกีฬาที่ถูกเรียกตัวเข้ามาเป็นนักกีฬาในชุดดั้งเดิมของทีมชาติไทย ในการร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับทีม หรือที่แฟนวอลเลย์บอลไทย ขนานนามว่า 6 เซียน อันประกอบไปด้วย วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, อรอุมา สิทธิรักษ์, มลิกา กันทอง, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, นุศรา ต้อมคำ และการกลับมาอีกครั้งของ อำพร หญ้าผา

โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 6 คน เคยได้กลับมาชิมลางร่วมงานกันอีกครั้งในการแข่งขัน VNL เมื่อปี 2019 และนี่จะเป็นการกลับมาร่วมประสานงานในรายการระดับโลกอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีทั้ง ปิยะนุช แป้นน้อย และ ฐาปไพพรรณ ไชยศรี อีก 2 ผู้เล่นตัวเก๋า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายของ ฐาปไพพรรณ ที่อาจจะเป็นแมตช์สุดท้ายในนามทีมชาติของเธออย่างเป็นทางการ

7. การติดแถบขาวใต้เบอร์อีกครั้งของ วิลาวัณย์

วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ รับหน้าที่เป็นกัปตันทีมชาติไทย มาตั้งแต่ปี 2007 ต่อจาก พัชรี แสงเมือง และหลังจากนั้นเราก็คุ้นเคยกับชื่อ “กัปตันกิ๊ฟ” มาโดยตลอด

กระทั่งปี 2016 ทีมชาติไทย เปลี่ยนแปลงกัปตันทีมจาก วิลาวัณย์ มาเป็น ปลื้มจิตร์ ถินขาว ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ รอบคัดเลือกโซนระดับโลก เป็นต้นมา

ปี 2019 กัปตันทีมชาติไทย เปลี่ยนจาก ปลื้มจิตร์ มาเป็น นุศรา ต้อมคำ ในการแข่งขันมงเทรอซ์ วอลเลย์ มาสเตอร์ส และในปีเดียวกัน ยังมีช่วงที่เปลี่ยนมาให้ อรอุมา สิทธิรักษ์ รับตำแหน่งกัปตันทีมในการแข่งขันอาเซียนกรังด์ปรีซ์ ก่อนที่ นุศรา จะกลับมาเป็น นุศรา อีกครั้ง ในการแข่งขันซีเกมส์

และนี่จะเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี กับการกลับมามีแถบขาวใต้เบอร์เสื้อ หรือการรับหน้าที่กัปตันทีมอีกครั้งของ วิลาวัณย์ ในการแข่งขัน VNL ที่อิตาลี

8. “โค้ชแขก” กุนซือใหม่ทีมชาติไทย

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทีมชาติไทย มีกุนซือมากฝีมือเข้ามารับหน้าที่ดูแลทีมในการแข่งขันรายการต่าง ๆ หลายคน อาทิ “โค้ชแดง” สุทธิชัย ชาญบัญชี, “โค้ชยะ” นาวาอากาศโท ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค, “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร จนถึง “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล

และในการแข่งขัน VNL 2021 ที่อิตาลี ครั้งนี้ ทีมชาติไทย ได้แต่งตั้ง “กัปตันแขก” กิตติคุณ ศรีอุทธวงศ์ กัปตันทีมจากไดมอนด์ ฟู้ด วีซี และอดีตกัปตันทีมชาติไทย เข้ามารับหน้าที่คุม

ซึ่ง “โค้ชแขก” นับว่าเป็นกุนซือรายใหม่ของทีมสาวไทย ที่แม้จะเป็นโค้ชที่จะออกแนวขัดตาทัพ อีกทั้งยังเป็นโค้ชทั้งที่เจ้าตัวยังอยู่ในสถานะของผู้เล่นอีกด้วย

9. ศึกชิงแชมป์เอเชีย เวอร์ชัน VNL

แม้การแข่งขันจะเลื่อนมาจากปี 2020 แต่ FIVB ยังคงยึดโปรแกรมตามเดิมในใช้ในปี 2021 และมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย

ซึ่งเดิมที เกมในสัปดาห์แรกของทีมชาติไทย จะต้องบินไปเล่นที่เมืองหนิงโป ประเทศจีน โดยจะต้องเจอกับ 3 ทีมยักษ์ใหญ่จากเอเชีย ทั้ง จีน, เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น

และแม้ว่าเกมในปี 2020 จะไม่เกิดขึ้น แต่ FIVB ยังคงยึดโปรแกรมจากเดิม และทำให้ 4 เสือเอเชีย มาเจอกันในสัปดาห์แรกของการแข่งขัน VNL หนนี้ที่อิตาลีเช่นเดิม

โปรแกรมการแข่งขันสัปดาห์ที่ 1

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564

20.00 น. ญี่ปุ่น พบ ไทย

21.00 น. จีน พบ เกาหลีใต้

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564

17.00 น. ไทย พบ เกาหลีใต้

18.00 น. จีน พบ ญี่ปุ่น

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

18.00 น. เกาหลีใต้ พบ ญี่ปุ่น

21.00 น. จีน พบ ไทย

10. ช่อง 3 ถ่ายทอดสดทีมชาติไทย ทุกนัด

ส่วนการถ่ายทอดสดกลับมายังประเทศไทย ของการแข่งขัน VNL ที่อิตาลี ครั้งนี้ แฟนวอลเลย์บอลสามารถรับชมได้ผ่านทางช่อง 3 ที่ยังคงได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิการแข่งขัน VNL เช่นเดิม

ซึ่งที่จริงแล้วช่อง 3 ถ่ายทอดสดการแข่งขันตั้งแต่ WGP เมื่อปี 2017 และยาวมาจนถึง VNL 2019 รวมถึงในปี 2021 นี้ พวกเขายังคงเป็นผู้ถือลิขสิทธิการถ่ายทอสดในประเทศไทยอีกด้วยเช่นกัน

และช่อง 3 ยืนยันจะถ่ายทอดสดเกมของทีมสาวไทย ตลอดทั้งการแข่งขัน VNL ให้กับแฟน ๆ ได้ติดตามกันทุกเกม จนจบทัวร์นาเมนต์

ส่วนแฟน ๆ วอลเลย์บอล ที่สนใจรับชมการแข่งขันคู่อื่น ๆ สามารถเข้าไปซื้อแพคเกจ รับชมได้ที่ volleyballworld.tv ซึ่งเป็นช่องทางการรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์ของ FIVB ในราคา 14.99 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 500 บาท